วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บทที่ 9 e-vap ระบบปรับอากาศของโรงเรือนเลี้ยงหมู

e-vap ย่อมาจาก Evaporative Cooling Greenhouse ซึ่งหมายถึงโรงเรือนที่มีระบบการให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ และลดอุณหภูมิภายในให้ต่ำกว่าสภาพภายนอกโรงเรือนได้
ที่ฟาร์มใช้ผ้าพลาสติกในการกั้นและห่อโรงเรือน ส่วนระบบให้ความชื่นลดความอุณหภูมิใช้ Cooling pad 


เริ่มจากสร้างโครงเหล็กไว้ผูกเชือก ขึงเชือก สำหรับขึงผ้าพลาสติกเป็นฝ้าเพดาน


ทำเป็นห่วงเหล็กไว้คล้องเชือก และเชือกจะขึงตามขวาง ตามยาว



เมื่อขึงเชือกเสร็จแล้ว เชือกจะสานกันเหมือนตาหมากรุก จะแข็งแรงรองรับน้ำหนักผ้าพลาสติกได้


ใช้ผ้าพลาสติกสีดำเป็นฝ้าเพดาน



ด้านหน้าโรงเรือนก่ออิฐทำเป็นร่อง Cooling pad ตลอดแนว ร่องจะกว้างพอดีก้อน Pad


ฝ้าเพดานจะสูงพอดีกับCooling pad


ด้านข้างใช้ผ้าพลาสติกสีขาวขุ่น  พร้อมติดกว้านไว้สำหรับเปิดปิดผ้าด้านข้างได้ เวลาไฟฟ้าดับ



ติดตามความคืบหน้า ของสุกรทองฟาร์มได้ที่นี้

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

บทที่ 8 ติดตั้งถังอาหารและพัดลม

ที่ฟาร์มใช้ถังอาหารสแตนเลสของ KPI ถังขนาดใหญ่รองรับสุกรขุนได้ 50 ตัว/ใบ และกระเดื่องเปิดอาหารทนทานแข็งแรง ตัวแทนจำหน่ายแนะนำครับ


โรงเรือน 1 หลังใช้ถังอาหาร 18 ใบ ถังอาหาร 1 ใบต่อ 1 คอก จะติดตั้งอยู่กลางคอกห่างจากทางเดินกลาง  1 เมตร เพื่อให้สะดวกต่อการเทอาหารใส่ถัง


เสายึดถังอาหารกลายเป็นเสาค้ำจั่วไปด้วยเลย


ถาดกินอาหารห่อด้วยปูนเพิ่มความแข็งแรงและกั้นถาดอาหารคว้ำ


พัดลมฟาร์ม 50 นิ้ว มอเตอร์ 1 แรง(3เฟส) ใบพัดสแตนเลสหล่อ 3 ใบ ให้ลมแรง


ใช้พัดลม 7 ตัว วางเต็มแผงหลังเล้า ที่จริงใช้พัดลม 6 ตัวก็ได้ แต่ผมเผื่อเอาไว้เนื่องจากเล้ากว้างและยาวกว่าในแบบมาตรฐานของ CP อีกอย่างคิดว่ามีเหลือดีกว่าขาด



พัดลมตัวที่ 7 ถ้าไม่ได้ใช้ก็เอาเป็นตัวสำรอง ถ้าเกิดปัญหากับพัดลมตัวใดตัวหนึ่งครับ


ติดตามความคืบหน้าของ สุกรทองฟาร์มได้ที่นี้

วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

บทที่ 7 แบ่งห้อง

โรงเรือนเลี้ยงหมูมี 18 คอก ทางเดินกลาง มีคอกข้างละ 9 คอก ขนาดคอก 6.5 x 8 เมตร เลี้ยงได้ 40 - 45 ตัวต่อคอก
ผนังทางเดินก่ออิฐบล็อก สูง 1 เมตร ผนังกั้นคอก ก่ออิฐบล็อก 2 ก้อน และอิฐบล็อกช่องลม 2 ก้อน ตามจริงใช้แป๊บน้ำครึ่งนิ้ว แทนอิฐบล็อกช่องลมจะดีกว่า


วางแนวท่อจุ๊บน้ำดื่มหมู แบบฝังในผนัง คอกหนึ่งๆ จะมีจุ๊บน้ำดื่ม 10 จุ๊บ แบ่งเป็นจุ๊บหมูโต 4 จุ๊บ(สูงไม่เกิน 50 ซม) จุ๊บหมูเด็ก 6 จุ๊บ(สูงระหว่าง 20 - 40 ซม)


ผนังหลังคอกก่ออิฐสูง 1 เมตร และฝังจุ๊บน้ำดื่ม 4 จุ๊บ  ผนังด้านนี้เป็นด้านส้วมน้ำและร่องชักกาก


ประตูคอก กว้าง 1 เมตร เป็นประตูเหล็ก ทางเดินระหว่างคอกกว้าง 1 เมตร ประตูแนวเปิดออก สามารถใช้ประโยชน์เป็นกั้นคอกได้ด้วยเมื่อเวลาไล่หมูเข้าคอก หรือ เวลาจับจะไล่ออก หมูจะเดินไปคอกด้านหลังไม่ได้


หลังจากฉาบปูนแล้ว วางแนวท่อน้ำดื่ม ความสวยงามก็ปรากฏ


 บริเวณส้วมและร่องช้กกากหลังคอก ร่องชักกากวางแนวระดับให้ชักกากได้ด้านหลังโรงเรือนเลี้ยง ส่วนส้วมน้ำมีไว้ให้หมูถ่ายและเล่นน้ำ แล้วหมูจะอารมณ์ดีกินนอนได้น้ำหนักที่ดี


ติดตามความคืบหน้าของ สุกรทองฟาร์ม ได้ที่นี้

วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2557

บทที่ 6 เสา พื้น และโรงเรือนเลี้ยงหมู

วางแปลนแผนผังของโรงเรือนมี 18 คอก ขนาดคอก 6.5 x 8 เมตร จะมีพื้นที่การเลี้ยง 936 ตร.ม รองรับสุกรขุนได้ 780 ตัว(สุกรขุน 1 ตัว ใช้พื้นที่ 1.2 ตร.ม)


ในแบบแปลนของผมใช้เสา 3 แถว แต่ละแถวห่างกัน 7.5 และ 6.5 เมตร ตามลำดับ
เสาแต่ละต้นห่างกัน 4 เมตร ดังนั้นใช้เสา ( 5"x 2.5เมตร) ทั้งหมด 57 ต้น


ก่อนที่จะเทพื้น ได้ฝังเสาแป๊บ 2" เป็นเสายึดถังอาหาร และเสาประตูคอก


 ลักษณะของเสาประตูคอกฝังเทตีนก่อนเทพื้น ทำไมต้องทำแบบนี้ คือเราอย่าไปประมาณพลังขุดของหมูถ้ายึดเสาไม่มั่นคง หมูจะขุดขึ้นมาได้แล้วผนังคอกก็จะพัง


เช่นกันเสายึดถังอาหาร ต้องทำเหมือนกัน เสาที่ยาวต่อไปเราจะใช้ประโยชน์ในการค้ำยันคานจั่วหลังคา
เทพื้นซีเมนต์หนา 10 ซม. ผมใช้บริการปูนผสมเสร็จของ ปูนซีเมนต์นกอินทรีย์(จะได้ค่าโฆษณาไหมนะ)


จากรูปจะเห็นว่าพื้นที่เทจะเป็นบริเวณคอกและทางเดินกลางเท่านั้น เว้นด้านข้างไว้ ซึ่งเป็นส่วนของส้วมค่อยเททีหลัง
ต่อไปถึงเวลาวางจั่วหลังคาแล้วครับ โรงเรือน 1 หลังใช้ 10 จั่ว ยาว 14 เมตร สูง 1.7 เมตร โครงสร้างเป็นเหล็ก C4" ถักด้วย C3"


โครงหลังคาวิ่งด้วยเหล็ก C3" และมุงด้วยแผ่นเมทัลชีท 2.8 มม


งานเหล็กกับงานปูนแยกกันนะครับ ดังนั้นเมื่องานหลังคากำลังดำเนินไป งานก่อผนังคอกก็ดำเนินควบคู่กันไปเหมือนกัน


เริ่มก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยง 2 หลังก่อน


พื้นที่โล่งเมื่อเดือนที่แล้ว ตอนนี้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาแล้ว เมื่อเริ่มก้าวเดินแล้วต้องเดินต่อไปให้สำเร็จ


ติดตามความคืบหน้าของ สุกรทองฟาร์ม ได้ที่นี้

วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557

บทที่ 5 อาคารแรกบนที่ผืนนี้

อาคารแรกที่ปลูกสร้างคือ โรงเก็บอาหาร เป็นอาคารขนาด 6 x 16 เมตร สูง 4 เมตร แบ่งเป็นห้องเก็บอาหาร 2 ห้อง ห้องเก็บของ 1 ห้อง และ Office 1 ห้อง



ช่วงแรกโรงเก็บอาหาร ใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์ ไว้สร้างโครงหลังคาเล้าหมู ที่เก็บของ และที่ทำงานต่างๆ เพราะมีหลังคาใช้หลบฝนหลบแดดได้


กองเหล็กทาสีกันสนิม เตรียมไว้สำหรับโครงหลังคาเล้า 2 เล้า ซึ่งช่วงแรกจะขึ้น 2 เล้าก่อน


โครงหลังคาเล้าต้นแบบ ยาว 15 เมตร ยาวเกือบเท่ากับโรงเก็บอาหาร ซึ่งขนาดเล้าที่จะสร้างคือ 15 x 75 เมตร


ขอบคุณกำลังใจจากคนนี้ด้วย พามาตากแดดหน้างานสักหน่อย ให้รู้ว่าที่หายไป ไม่ได้ไปไหนมาคุมงานสร้างฟาร์มนีนี้แหละ


เมื่อเล้าหมูขึ้นโครงสร้างหมดแล้ว โรงเก็บอาหารได้เปลี่ยนสภาพเป็นบ้านพักคนงาน และที่เก็บของ สารพัดประโยชน์จริงๆ


สองห้องด้านข้างคือห้องเก็บอาหารสำหรับเล้าที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ส่วนโถงตรงกลางคือห้องเก็บของและOffice ในอนาคต


ด้านหลังของโรงเก็บอาหาร สองห้องด้านข้างคือห้องเก็บอาหาร อาหารจะถูกนำเข้ามาเก็บด้านหน้า และนำออกไปใช้ด้านหลัง มีทางปูนสำหรับให้รถเข็นขนอาหารเข้าเล้าได้เลย และห้องตรงกลาง 4 x 2 เมตร เป็นห้องเก็บของ


ห้องตรงกลาง 4 x 4 เมตร เป็นOffice ครับ สำหรับทำงานเอกสาร หลบแดด หลบฝน อื่นๆ อีกมากมาย


ติดตามความคืบหน้าของ สุกรทองฟาร์ม ได้ที่นี้

วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557

บทที่ 4 บ่อน้ำแห่งต้นกำเนิด

ช่วงบ่ายของวันยกเสาเอก ได้นัดทีมงานเจาะบ่อบาดาล ช่างลพ เป็นทีมงานรับเจาะบ่อบาดาลแถวๆ ชัยบาดาลอยู่แล้ว
เครื่องไม้เครื่องมือของเค้าพร้อมจริงๆ ประกอบด้วย รถเจาะ รถปั๊มลม และรถขนท่อ


การสำรวจจุดเจาะแบบบ้านๆ ใช้แท่งทองเหลือง 2 แท่งถือไว้ในมือสองข้างให้ปลายทั้งสองชี้ไปข้างหน้า จากนั้นให้เดินไปข้าง ถ้าปลายแท่งทองเหลืองเบนออกจากกันให้ทำเครื่องหมายจุดนั้นไว้ ต่อไปลองเดินจากทิศอื่นมายังจุดนี้อีก ถ้าปลายแ่ทงทองเหลืองเบนออกจากกันที่จุดนี้อีก แสดงว่าจุดนี้แหละเจาะบ่อได้เจอน้ำแน่นอน ช่างลพรับประกันถ้าไม่เจอเจาะให้ใหม่ไม่คิดตังค์เพิ่ม


แท่นขุดเจาะยังกะเจาะหาน้ำมันเลย ลมจากปั๊มลมเป่าอัดฝุ่น ขี้ดินกระจาย แป๊บเดียวเจาะได้เป็น 10 เมตรเลยทีเดียว


เถ้าแก่แกะ นั่งลุ้นว่าจะเจอน้ำไหม เจาะลงไปประมาณ 36 เมตร ใช้เวลาไม่ถึงชัวโมงครึ่ง น้ำพุ่งทะลักออกมายังกะบ่อน้ำมัน


 ติดตั้งปั๊มน้ำ ใส่ท่อPVC แล้วทดลองเดินปั๊มน้ำดู น้ำออกดี เถ้าแก่เล็ก ถึงกะอมยิ้มเลย


ขุมพลังไฟฟ้ามาจากเครื่องปั่นไฟฟ้าควายทอง เครื่องนี้เลย ต่อไปจะมีบทบาทมากในการสร้างเล้าเพราะที่ฟาร์มยังขอไฟหลวงไม่ได้ จึงต้องพึ่งเจ้าควายทองนี้ในงานเชื่อม ต่างๆ
ขอขอบคุณอาจารย์เฉลียว(เสื้อสีบานเย็น) ค่อยช่วยเหลือพวกผมทั้งสองคนทุกเรื่อง ทั้งเรื่องหาที่ดิน หาช่างมาปรับที่ดิน หาช่างเจาะบ่อ และหาช่างสร้างเล้า



แม่เรียง อยู่จนเจาะบ่อเสร็จ อากาศวันนั้นร้อนจริงๆ แดดแรงมาก แต่ท่านไม่บ่นเลย ขอบคุณมากครับที่ช่วยให้ลูกมีวันนี้ได้ครับ



เมื่อมีน้ำซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ต่อไปงานก่อสร้างจะเปิดฉากเสียที

ติดตามความคืบหน้าของ สุกรทองฟาร์ม ได้ที่นี้